การกระตุ้นการผลิตน้ำนมแม่

ทำไมจึงควรจะเริ่มกระตุ้น/บีบน้ำนมแม่ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ในชั่วโมงแรก ๆ หลังคลอดระดับฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดการผลิตและหลั่งน้ำนม คือ ออกซิโตซินและโพรแลกตินจะสูงเป็นพิเศษ ถ้าหากเริ่มการกระตุ้นการสร้างน้ำนมแม่/การบีบน้ำนมแม่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้หลังคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเริ่มภายใน 1-2 ชั่วโมงแรกจะได้รับประโยชน์จากการมีระดับฮอร์โมนสูง ซึ่งส่งผลให้ผลิตน้ำนมได้เร็วขึ้นและมีปริมาณมากขึ้น อย่างไรก็ตามถ้ายังทำไม่ได้ก็ไม่เคยสายเกินไปที่จะเริ่ม

สาเหตุที่เราเรียกทั้งการกระตุ้นและการบีบน้ำนมแม่นั้น เป็นเพราะเป็นเรื่องปกติที่ไม่มีนมออกมาเลย หรือออกไม่กี่หยดในครั้งแรก ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และการกระตุ้น/การบีบน้ำนมแม่ออกอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ค่อย ๆ เริ่มมีการผลิตน้ำนมแม่และปริมาณน้ำนมจะเพิ่มขึ้นภายในไม่กี่วัน

ทุกหยดมีค่าและควรให้เด็กกินโดยเร็วที่สุด

การให้เด็กกินหัวน้ำนม (คอลอสตรัม) หรือน้ำนมเหลืองในปริมาณเล็กน้อย จะช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดและ/หรือป่วย และสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ สำหรับเด็กส่วนใหญ่เราสามารถเริ่มให้เด็กกินโดยเร็วที่สุดหลังจากเด็กเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในชั่วโมงแรกของชีวิตและจากนั้นอีกสองสามครั้งต่อวัน

ทำอย่างไร

ถ้าเป็นไปได้ทันทีที่เริ่มมีหยดน้ำนมเหลืองไหลออกมา ควรให้หยดลงบนแก้มของเด็กซึ่งมีสารที่จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่เข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุแก้ม คุณที่เป็นพ่อแม่สามารถทำได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่

เมื่อไรและอย่างไร

กระตุ้น/บีบน้ำนมแม่ประมาณ 8 ครั้งต่อวัน เพื่อเป็นการเริ่มต้นและจากนั้นเพื่อเป็นรักษาระดับปริมาณการผลิตน้ำนมแม่ นอกจากนี้เรายังแนะนำให้กระตุ้น/บีบน้ำนมแม่ครั้งหนึ่งในช่วงกลางคืนด้วย เพื่อกระตุ้นฮอร์โมนโพรแลกตินให้เกิดการสร้างน้ำนมในระดับสูงต่อไป

ในช่วงแรกมักจะมีน้ำนมเหลืองไม่กี่หยดแต่ด้วยการกระตุ้น/บีบน้ำนมแม่อย่างต่อเนื่องและซ้ำ ๆ จะทำให้มีการผลิตน้ำนมเร็วขึ้น และทำให้ปริมาณน้ำนมจะเพิ่มขึ้น จำนวนครั้งต่อวันที่บีบน้ำนมแม่สำคัญกว่าจำนวนนาทีต่อครั้ง หากเป็นไปได้ควรบีบน้ำนมตอนอยู่ข้างตัวลูก แบบเนื้อแนบเนื้อหรืออยู่ใกล้กับลูกในระหว่างที่บีบน้ำนม เนื่องจากสามารถเพิ่มการปล่อยออกซิโตซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำนม และทำให้น้ำนมออกจากเต้า หากไม่สามารถอยู่ใกล้ลูกของคุณได้อาจจะกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนมด้วยการดมสิ่งของที่มีกลิ่นของลูก อย่างเช่น ผ้าเน่า/ผ้าอุ่นใจ (Snuttetrasa)

เพื่อให้ร่างกายมีสภาวะที่ดีที่สุดในการผลิตน้ำนมแม่ ควรพยายามหาเวลาพักผ่อน ดื่ม รับประทานอาหาร และบรรเทาอาการปวดด้วยวิธีที่ถูกต้อง

วิธีการใดบ้างที่สามารถใช้ได้ - บีบน้ำนมด้วยมือหรือใช้เครื่องปั๊มนม

ในครั้งแรก/สองสามครั้งแรกนั้นส่วนมากการกระตุ้น/บีบน้ำนมแม่ด้วยมือจะง่ายกว่า ซึ่งอาจช่วยให้มีน้ำนมเหลืองไหลออกในปริมาณเยอะกว่าด้วย ตัวอย่างเช่น หากเพิ่งได้รับการผ่าตัดคลอดหรือมีอาการปวดอวัยวะเพศหลังคลอด บางครั้งอาจยากในการหาท่าที่สะดวกสบายที่จะใช้เครื่องปั๊มนม ในระยะต่อมาหลายคนเลือกที่จะใช้เครื่องปั๊มน้ำนม เนื่องจากมักจะมีความรู้สึกว่าเป็นเครื่องช่วยที่ดีถ้าหากจำเป็นต้องบีบน้ำนมเป็นเวลานาน ๆ

สุขอนามัยมือ

การมีสุขอนามัยมือที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ โดยก่อนและหลังการกระตุ้น/บีบน้ำนมแม่ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดบีบน้ำนมก็ตาม ให้ใช้สบู่และน้ำเปล่าล้างทำความสะอาด แล้วใช้น้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อ/เจลล้างมือถูมือและปล่อยมือให้แห้งก่อนที่จะบีบน้ำนม

การบีบน้ำนมด้วยมือ

  • หากเป็นไปได้ควรอยู่ใกล้กับลูกของคุณโดยมีการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ
  • สองสามนาทีก่อนการกระตุ้น/บีบน้ำนมแม่ ให้ใช้มือคลึงเต้านมเบา ๆ จากผนังหน้าอกเข้าหาหัวนม
  • วางนิ้วของคุณเป็นรูปตัว "C" ที่บริเวณขอบนอกของลานหัวนม ใช้นิ้วที่จับเป็นรูปตัว "C" กดเข้าหาผนังหน้าอกจากนั้นบีบนิ้วเข้าหากันแล้วเลื่อนนิ้วเข้าหาหัวนม
  • • ทำซ้ำขั้นตอนที่ 3 ต่อไปให้เป็นจังหวะด้วยมือที่ผ่อนคลาย ค่อย ๆ เลื่อนนิ้วไปรอบ ๆ ลานหัวนมเพื่อกระตุ้นให้ทั่วเต้านม แนะนำให้กระตุ้นเต้านมเป็นเวลาข้างละห้านาทีและทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เปลี่ยนข้างเมื่อไม่มีน้ำนมไหลออกมาแล้ว อาจต้องใช้เวลาหลายนาที/ครั้งก่อนที่จะมีน้ำนมออกมา ซึ่งอาจจะรู้สึกเป็นเวลานานให้อดทนและกระตุ้นต่อไป
ภาพถ่าย: Sandra Hegestrand
ภาพถ่าย: Sandra Hegestrand

การบีบน้ำนมด้วยเครื่องปั๊มไฟฟ้า

คุณสามารถเลือกบีบน้ำนมทั้งสองเต้าพร้อมกัน หรือจะบีบทีละเต้าก็ได้ ข้อดีของการบีบน้ำนมทั้งสองเต้าพร้อมกันคือ ช่วยให้คุณประหยัดเวลา และนอกจากนั้นมีการปล่อยฮอร์โมนที่สามารถกระตุ้นให้เพิ่มปริมาณน้ำนมได้ ให้คุณลองแล้วเลือกวิธีที่รู้สึกดีที่สุดสำหรับคุณ

1. เลือกกรวยปั๊มนมที่เหมาะกับเต้านมของคุณ เพื่อให้หัวนมอยู่ตรงกลางของกรวยสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้โดยไม่เสียดสีกับด้านในของกรวย

รูปทรงที่เหมาะสม - หัวนมอยู่ตรงกลางและสามารถเคลื่อนที่ได้
กรวยปั๊มนมที่เล็กเกินไป - หัวนมโดนเสียดสีกับด้านข้างของคอกรวย
กรวยปั๊มนมที่ใหญ่เกินไป - หัวนมและเนื้อลานหัวนมส่วนใหญ่จะถูกดึงเข้าไปในคอกรวย

2. ควรให้ขอบกรวยปั๊มนมโดนน้ำพอเปียกเพื่อทำให้ให้กรวยแนบกับเต้าสนิทขึ้น

3. เปิดใช้เครื่องปั๊มและปรับเพิ่มแรงดูดสุญญากาศ จนกว่าจะรู้สึกถึงพลังแล้วปรับลดแรงดูดสุญญากาศลง จนกระทั่งรู้สึกสบายไม่ควรรู้สึกเจ็บเมื่อปั๊มนม!

เครื่องปั๊มนมของแผนกมีโปรแกรมที่แตกต่างกัน 2 โปรแกรม โปรแกรมหนึ่งเรียกว่า Initiera (โปรแกรมการกระตุ้นสร้างน้ำนม) และอีกโปรแกรมหนึ่งเรียกว่า Upprätthålla (โปรแกรมการรักษาระดับปริมาณน้ำนม) วิธีการปั๊มนมจะขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่ใช้ดังต่อไปนี้:

Initiera (โปรแกรมการกระตุ้นสร้างน้ำนม)

เมื่อใช้โปรแกรมการกระตุ้นสร้างน้ำนม แนะนำให้ปั๊มน้ำนมทั้งสองเต้าพร้อมกัน เปิดเครื่องปั๊มน้ำนมด้วยกดปุ่มเริ่มทำงานที่อยู่ข้างซ้าย – จากนั้นกดปุ่มที่มีเครื่องหมายเป็นหยดทันที โปรแกรมจะเริ่มต้นด้วยการแสดงรูปหนึ่งหยดบนจอ ปรับให้มีแรงดูดสุญญากาศที่เหมาะสม

เครื่องปั๊มน้ำนมจะปิดโดยอัตโนมัติหลังจากการใช้งานเวลา 15 นาที หากคุณปั๊มน้ำนมออกมา 20 มล. สามครั้งติดต่อกัน หรือหลังจากห้าวันแรกให้เปลี่ยนไปใช้โปรแกรมการรักษาน้ำนม โปรดดูด้านล่างนี้

Upprätthålla (โปรแกรมการรักษาระดับปริมาณน้ำนม)

เปิดเครื่องปั๊มด้วยกดปุ่มเริ่มต้นที่อยู่ข้างซ้าย เครื่องปั๊มเริ่มต้นด้วยการแสดงรูปสามหยดบนจอ ปรับให้มีแรงดูดสุญญากาศที่เหมาะสม

เครื่องปั๊มจะทำงานด้วย "โหมดกระตุ้นน้ำนม" เป็นระยะเวลา 2 นาที ก่อนเปลี่ยนทำงานด้วย "โหมดหลั่งน้ำนม" โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนโหมดได้เองด้วยกดปุ่ม "หยด" ที่อยู่ข้างขวาหากน้ำนมเริ่มไหลออกเร็วขึ้นมากกว่าเดิมภายในสองนาที โดยมากก่อนที่จะมีการผลิตน้ำนมมักจะมีน้ำนมเพียงพอให้ปั๊มแต่ละเต้านมประมาณ 5 - 15 นาที เมื่อมีการผลิตน้ำนมแล้วคุณสามารถปั๊มนมตราบเท่าที่น้ำนมไหลประมาณ 15 - (30) นาทีต่อเต้านม หรือตามความต้องการของคุณ

สุขอนามัยหลังจากปั๊มเสร็จแล้ว

ชิ้นส่วนประกอบของเครื่องปั๊มจะถูกเปลี่ยนวันละครั้งในระหว่างเด็กรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล ชิ้นส่วนประกอบของเครื่องปั๊มควรถอดแยก ล้างออกด้วยน้ำเย็นครั้งหนึ่งหลังจากนั้นด้วยล้างด้วยน้ำอุ่น ก่อนที่จะล้างด้วยน้ำเย็นอีกครั้ง ตากลมให้แห้งและเก็บไว้บนพื้นผิวที่สะอาดในห้อง สำหรับที่บ้านชิ้นส่วนประกอบเครื่องปั๊มจะถูกใช้งานเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นควรนำไปต้มวันละครั้งนอกเหนือจากการทำความสะอาดปกติ

เนื้อหา: กลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสารอาหารด้วยการใช้ไม้พันสำลีป้อน (PO) ในทารกแรกเกิดที่ป่วย

ภาพประกอบ: Annaklara Martin-Löf