โรคหัวใจ

ในช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาอาจจะเกิดความผิดปกติในหัวใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด

อาจเป็นความบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เกิดรูเล็ก ๆ บริเวณผนังกั้นห้องหัวใจ (ซึ่งเรียกว่า ความบกพร่องของผนังกั้นหัวใจห้องล่าง : VSD) หรือเกิดการหดตัวของลิ้นหัวใจ ความผิดปกติเหล่านี้มักจะหายไปเมื่อเวลาผ่านไป อาจมีข้อบกพร่องที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและต้องทำการผ่าตัด โดยมักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนแรกของชีวิต ศูนย์ผ่าตัดหัวใจเด็กมีอยู่ในโรงพยาบาลสองแห่งในสวีเดนคือ ที่ลุนด์และโกเธนเบิร์ก

หัวใจมีสี่ห้องกล่าวคือ ห้องขวาบนและซ้ายบนและห้องซ้ายล่างและขวาล่าง เลือดที่มาจากส่วนต่าง ๆ ร่างกายไหลเข้าไปทางด้านขวาของหัวใจ และถูกสูบฉีดผ่านห้องของหัวใจด้านบนและด้านล่างแล้วออกไปยังปอด ภายในปอดนั้นเลือดจะรับเอาออกซิเจนใหม่ ๆ ต่อจากนั้นจะไหลกลับไปที่หัวใจห้องซ้ายบน แล้วเลือดจะไหลไปยังหัวใจห้องซ้ายล่างซึ่งทำการสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนไปตามร่างกาย ผ่านทางหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "aorta" ในภาษาละติน เพื่อให้กระแสเลือดไหลผ่านหัวใจไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยจะมีตัวเชื่อมและลิ้นหัวใจอยู่ระหว่างห้องต่าง ๆ ในหัวใจและออกไปในเส้นเลือดใหญ่

ภาวะหัวใจบกพร่องสามารถตรวจพบได้หลายวิธี บางครั้งเราอาจเห็นได้จากการทำอัลตราซาวนด์ก่อนที่ทารกจะเกิด บางครั้งพบจากเด็กมีความยากลำบากในการรับออกซิเจนโดยทันทีหลังการคลอด บางครั้งแพทย์อาจได้ยินเสียงฮืด ๆ เมื่อตรวจดูเด็กทารก และบางครั้งโรคหัวใจก็ไม่ได้แสดงอาการใด ๆ เลย การวินิจฉัยอาการเด็กจึงทำโดยใช้อัลตราซาวนด์หรือที่เรียกว่า การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

ภาวะหัวใจบกพร่องมีผลกระทบต่อทารกแรกเกิดประมาณ 8 ใน 1,000 คนแต่มีเพียง 2 ใน 8 คนเท่านั้นที่มีอาการซับซ้อน การรักษาความบกพร่องของหัวใจในปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ เด็กเกือบทุกคนรอดชีวิตแต่ต้องคอยติดตามผลเมื่อเด็กโตขึ้นต่อไป