เส้นทางสู่การกินนมแม่ของทารกคลอดก่อนกำหนด

ถ้าเด็กทารกคลอดก่อนกำหนด เส้นทางสู่การกินนมแม่ของเด็กอาจอธิบายได้ด้วย "วงล้อให้นมแม่" (Amningshjul) เส้นทางสู่การกินนมแม่ของเด็กอาจมีได้ทั้งก้าวหน้าและถอยหลังเล็กน้อยในบางครั้ง

ในแต่ละขั้นตอนอาจใช้เวลาต่างกันสำหรับเด็กแต่ละคน ให้ทำตามท่าทีหรือสัญญาณของเด็ก และให้เป็นไปตามจังหวะของเด็กเอง โปรดใช้ความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เพื่อตีความสัญญาณของเด็ก และปรึกษากับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับความพร้อมของเด็กที่จะทำตามขั้นตอนถัดไป

ขั้นตอนแรก: การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ

ขั้นตอนแรกของเส้นทางสู่การกินนมแม่ เริ่มต้นด้วยการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อกับคุณผู้เป็นพ่อแม่ การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อคุณผู้เป็นพ่อแม่ การผลิตน้ำนมแม่ และลูกของคุณ นอกจากนี้ยังทำให้คุณที่เป็นพ่อแม่เข้าใจท่าทีของเด็กง่ายขึ้นด้วย เมื่อเด็กเริ่มแสดงถึงสัญญาณความพร้อมที่จะนอนที่หน้าอก

ขั้นตอนที่สอง: การเลียการดูดริมฝีปากและการค้นหา

ขั้นตอนถัดไปเมื่อเด็กเริ่มแสดงสัญญาณว่าอยากดูดนม โดยจะเลียริมฝีปาก ดูดริมฝีปาก และค้นหาเต้านม หากในตอนนั้นเด็กมีสุขภาพดีและความแข็งแรงพอ เราสามารถให้เด็กนอนที่หน้าอกได้ ในช่วงแรกเด็กอาจจะนอนหลับทันทีซึ่งเป็นเรื่องปกติ ระยะเวลาที่เด็กสามารถนอนที่เต้านมในช่วงแรก ๆ จะแตกต่างกันระหว่างเด็กแต่ละคน ให้ดูท่าทีของเด็กและขึ้นอยู่กับตัวเด็กเองว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน เด็กที่คลอดก่อนกำหนดจำเป็นต้องอุ้มนอนในอ้อมอก โดยอยู่ในท่าให้นมที่เหมาะกับการกินนม และคุณผู้เป็นแม่ก็อาจจะต้องมีที่รองแขนเพื่อจัดท่าให้สะดวกสบาย

ขั้นตอนที่สาม: ค้นหาและเจอเต้านม

เมื่อเด็กพร้อมสำหรับขั้นตอนถัดไป เด็กจะเริ่มค้นหาเต้านมโดยพยายามจับเต้านม และดูดเป็นครั้งคราวหรือสองสามครั้งติดต่อกันในช่วงแรก ๆ เด็กจะอ้าปากงับดูดไว้เป็นแค่ระยะช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น และมักจะพักนาน ๆ ในระหว่างที่พยายาม บางครั้งเด็กก็อาจจะกลืนนมในปริมาณเล็กน้อย

ขั้นตอนที่สี่: งับเต้านมไว้

ในที่สุดเด็กก็จะสามารถงับเต้านมไว้และดูดเป็นระยะเวลานานขึ้น และเด็กอาจจะกลืนนมในปริมาณมากขึ้น ควรจะให้เด็กดูดนมแม่ทันทีที่เด็กแสดงว่าอยากดูด แม้ว่าจะเกิดขึ้นก่อนเวลาให้อาหารทางสายยางตามแผนที่กำหนดก็ตาม

ขั้นตอนที่ห้า: ดูดนมแม่นานขึ้น

จากนั้นเด็กสามารถเริ่มดูดนมแม่เป็นเวลานานขึ้น โดยมีระยะเวลาพักระหว่างการดูดนมที่สั้นลง และเด็กมักจะได้รับน้ำนมในปริมาณมากขึ้น ในช่วงนี้อาจถึงเวลาที่จะลดปริมาณอาหารที่ได้รับทางสายยางลง เพื่อเปลี่ยนไปเลี้ยงด้วยนมแม่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในกรณีนี้ควรปรึกษากับเจ้าหน้าที่

ขั้นตอนที่หก: กินนมจากเต้านมอย่างเดียว

เมื่อเด็กพร้อมคุณสามารถค่อย ๆ เปลี่ยนมาให้ลูกกินนมจากเต้านมอย่างเดียว ในช่วงนี้เด็กหลายคนจะต้องการดูดนมจากเต้านมเป็นระยะถี่ ๆ ให้เด็กดูดนมเมื่อแสดงสัญญาณ และเริ่มอย่างน้อยทุก 3 ถึง 4 ชั่วโมง

การบีบน้ำนมจากเต้าจะช่วยให้ง่ายขึ้น

คุณสามารถทำให้การเปลี่ยนมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ง่ายขึ้น โดยกระตุ้นการผลิตน้ำนมด้วยการบีบน้ำนมด้วยมือหรือเครื่องปั๊มได้ บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นด้วยการบีบน้ำนมด้วยมือและเครื่องปั๊ม เพราะไม่ได้เป็นการกระตุ้นเต้านมได้ดีเท่ากับการดูดนมของเด็ก ถึงแม้ว่าบางครั้งเป็นเรื่องยากที่จะเพิ่มการผลิตน้ำนมด้วยการบีบน้ำนมด้วยมือและเครื่องปั๊ม แต่จะเป็นผลดีหากพยายามคงระดับปริมาณการผลิตน้ำนมต่อไป เมื่อเด็กพร้อมที่จะเข้าเต้าและเมื่อเริ่มกระตุ้นแล้วมักจะมีปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น บางครั้งมันอาจจะเกิดขึ้นหลังจากคุณกลับบ้านสู่สภาพแวดล้อมที่บ้านของคุณเอง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม